เปิดอาการป่วย “โนโรไวรัส” หลังกำลังระบาดหนักในจีน มีแนวโน้มเพิ่มสูง ยังไม่มียา-วัคซีนรักษา เชื้อทนทานต่อแอลกอฮอล์
สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “โนโรไวรัส” ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 World of Buzz สื่อในมาเลเซีย รายงานว่า ในหลายพื้นที่ของจีนมีการแพร่ระบาดเชื้อโนโวไวรัส (Norovirus) อยู่ในขั้นวิกฤต ซึ่งสามารถติดต่อได้ง่าย มีความทนทานต่อแอลกอฮอล์ ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกัน รวมถึงยังไม่มียาที่กำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ
โดยตั้งแต่เดือน ต.ค. ที่ผ่านมา มีเด็กนักเรียนหลายคนติดเชื้อโนโรไวรัสจำนวนมาก อาทิ โรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในเขตจางวาน เมืองซื่อหยาน มณฑลหูเป่ย มีเด็กนักเรียนใน 3 ห้องเรียนติดเชื้อไวรัส ทำให้โรงเรียนต้องหยุดทำการเรียนการสอน
นอกจากนี้ โรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กในมณฑลส่านซี ยูนนาน และหูเป่ย ต่างก็มีรายงานการระบาดของโนโรไวรัส และที่ศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งในเมืองซีอาน มณฑลส่านซี พบเด็กติดเชื้ออย่างน้อย 48 ราย ในช่วงกลางเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
ขณะนี้การแพร่ระบาดของ โนโรไวรัส ได้เข้าสู่ช่วงพีคแล้ว ทำให้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของจีน ต้องออกแนวทางปฏิบัติเพื่อเตือนประชาชนเกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ โดยมีการแนะนำให้ผู้ติดเชื้อแยกกักตัวจากผู้อื่น
นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติของจีน แนะนำให้ประชาชนล้างมือด้วยสบู่เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาทีก่อนรับประทานอาหารและหลังจากขับถ่าย รวมถึงปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทานและหมั่นทำความบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีคลอรีนเป็นส่วนประกอบหลัก พร้อมเตือนประชาชนไม่ให้ไปทำงานหากติดเชื้อไวรัส และรีบไปพบแพทย์ทันที
ขณะที่ Chinadaily ได้เผยข้อมูลอ้างอิงจาก “เผิง จื้อปิน” นักวิจัยจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งประเทศจีน (CDC) ที่ได้อธิบายว่า โนโรไวรัส เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการอักเสบเฉียบพลันในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ โรคนี้สามารถระบาดได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีอัตราการติดเชื้อสูงสุดในช่วงเดือน ต.ค.-มี.ค.
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า “อาการป่วย โนโรไวรัส” ในกลุ่มเด็กจะพบอาการอาเจียนเป็นหลัก ขณะที่ในผู้ใหญ่มักมีอาการท้องเสีย อาการอื่นๆที่พบได้ทั่วไปคือ คลื่นไส้ ปวดท้อง ไข้ และปวดกล้ามเนื้อ แม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากการติดเชื้อในระยะเวลาเพียง 2-3 วัน แต่ในกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะขาดน้ำ อาจต้องการการดูแลเป็นพิเศษ
วิธีป้องกันโรคที่สำคัญที่สุดคือ การล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำไหลก่อนการเตรียมอาหารหรือรับประทานอาหาร รวมถึงหลังการใช้ห้องน้ำ ผู้ที่ติดเชื้อควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นในระหว่างที่ยังมีอาการ และอย่างน้อย 2-3 วันหลังจากอาการหายไป เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น