“อ.เจษฎ์” ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เปิดข้อมูล ไวรัสร้ายแรง 3ชนิด ที่หายไป ว่ามีอะไรบ้าง และ อันตรายมากแค่ไหน
“อ.เจษฎ์” ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความเผยข้อมูลระบุว่า
เรื่อง “เชื้อไวรัสหายไปจากห้องแล็บที่ออสเตรเลีย” เป็นเรื่องจริงครับ .. แต่ยังไม่มีอะไร ให้ต้องแตกตื่นหวาดกลัว”
เช้านี้ หลายคนส่งมาถามเรื่องนี้ครับ ที่มีข่าวว่า “ไวรัสร้ายแรง 323 หลอด หายจากห้องแล็ปในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย” ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องมั่ว !?
คำตอบคือ มันเป็นเรื่องจริงครับ โดยเชื้อไวรัสชนิดร้ายแรง เช่น ไวรัสเฮนดรา (Hendra virus), ไวรัสลิสซา (Lyssavirus) และไวรัสฮันตา (Hantavirus) ที่หายไปจากแล็บที่ออสเตรเลียนั้น หายไปตั้งแต่ 3 ปีก่อนแล้ว และพึ่งจะมีการมาแถลงกัน
แต่ๆๆ ก็ยังไม่มีแนวโน้มหรือหลักฐานว่ามันจะก่อให้เกิดอันตรายต่อมวลมนุษย์ชาติ เช่นการเป็นโรคระบาดไปทั่ว อย่างที่หลายคนวิตกกัน .
เพราะเชื้อพวกนี้จะตายอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่มีที่จัดเก็บ แช่แข็ง หรือเพาะเลี้ยงเป็นพิเศษโดยผู้เชี่ยวชาญ และยังไม่พบอุบัติการณ์ของโรค ในพื้นที่ใดที่เกี่ยวข้องกันกับเชื้อครับ
แถมทางการยังเชื่อว่า จริงๆ พวกมันน่าจะถูกนึ่งฆ่าเชื้อทิ้งไปแล้วด้วย เพียงแค่ไม่ได้บันทึกให้ชัดเจน
ดูรายละเอียดของข่าวดังนี้ครับ (ลิงค์ข่าวอยู่ด้านล่าง)
1. วันที่ 8 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย นาย Tim Nicholls ได้ออกมาประกาศว่า มีหลอดบรรจุเชื้อไวรัสที่ยังชีวิตอยู่ จำนวน 323 หลอด ได้หายไปจากที่ขึ้นบัญชีไว้
– โดยในจำนวนนี้ เป็นเชื้อเฮนดราไวรัส เกือบ 100 หลอด , เชื้อฮานตาไวรัส 2 หลอด และ เชื้อลีสซาไวรัส อีก 223 หลอด ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเชื้ออันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์
– เชื้อดังกล่าวหายไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 (3 ปีก่อน) และได้เริ่มการตรวจสอบยืนยันว่าหายจริง เมื่อกันยายน 2023
– ที่ทางการพึ่งออกมาแถลงตอนนี้ ก็เพราะว่าพึ่งจะยืนยันได้จัดเจนในเดือนนี้เอง ว่าตัวอย่างเชื้อได้หายไปจริง หลังจากที่รอมาเป็นปี ให้ได้รับอนุญาตให้เปิดตู้แช่เชื้อ
– แต่ทางการควีนส์แลนด์ ยืนยันว่า ถึงแม้เชื้อเหล่านี้จะเอาไปทำอาวุธชีวภาพได้ แต่ต้องโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
2. เชื่อกันว่า เชื้อที่หายไปจากห้องแล็บ Public Health Virology Laboratory ของรัฐนั้น เกิดขึ้นระหว่างที่ตู้ฟรีสเซอร์แช่แข็ง ที่เก็บเชื้อไว้ เสียหาย
– เจ้าหน้าที่ได้แถลงว่า เชื้อได้ถูกย้ายจากตู้แช่ที่เสีย ไปยังตู้ที่ใช้งานได้ โดยไม่ได้มีการจัดการเอกสารประกอบอย่างเหมาะสม เชื่อจึงอาจจะถูกเคลื่อนย้ายแล้วหายไป หรือไม่ก็ยังหาไม่เจอ
– ตอนนี้ ยังไม่ทราบว่าเชื้อนั้นไปอยู่ที่ไหน หรือว่ามันได้ถูกทำลายแล้วหรือยัง
– อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานชี้นำว่าประชาชนจะมีความเสี่ยง ที่อาจจะติดเชื้อดังกล่าว หลังจากที่เชื้อหายไป
3. ทางการได้เน้นด้วยว่า เชื้อไวรัสพวกนี้จะเสื่อมสภาพ ตายลง อย่างรวดเร็ว ถ้าอยู่นอกตู้แช่เข็งที่มีอุณหภูมิต่ำมาก และทำให้พวกมันไม่อาจติดต่อสู่คนได้
– พวกเขายังเชื่อว่า ที่เป็นไปได้มากสุด คือ เชื้อเหล่านี้ถูกนึ่งฆ่าเชื้อ แบบออโตเคลฟ ( autoclave) ทิ้งไปแล้ว ตามรูทีนประจำวันของห้องแล็บ เพียงแต่ไม่ได้รับการบันทึกเอาไว้ให้ชัดเจน
– และก็ไม่น่าเป็นไปได้ด้วย ว่าเชื้อไวรัสพวกนี้จะปะปนไปกับขยะทั่วไปของห้องแล็บ
– ที่สำคัญคือ ไม่มีรายงานพบการติดเชื้อโรคไวรัสเฮนดรา หรือไวรัสลิสซา ในคนของรัฐควีนส์แลนด์เลย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา / และไม่มีรายงานเคสติดเชื้อไวรัสฮานตา ในประเทศออสเตรเลียเลย
4. และก็ไม่มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า มีการจงใจ ขโมยตัวอย่างเชื้อไวรัสพวกนี้ไป เพื่อจุดมุ่งหมายจะสร้างอันตรายต่อประชาชน
– เนื่องจาก ถึงแม้ว่าเชื้อไวรัสพวกนี้จะเป็นเชื้อที่สามารถเป็นอันตราย แต่พวกมันก็มีอัตราการติดเชื้อ (infection rate) ที่ต่ำ ไม่เหมาะจะนำมาเป็นอาวุธชีวภาพ ยกเว้นจะนำไปตัดต่อพันธุกรรมอย่างซับซ้อน
– นอกจากจะยังไม่มีหลักฐาน ว่าเชื้อได้ถูกนำออกไปจากสถาบัน ออกไปทำอาวุธชีวภาพแล้ว การนำเอาเชื้อไวรัสมาทำอาวุธชีวภาพนั้น มีขั้นตอนที่สลับซับซ้อนมาก ไม่ใช่เรื่องที่ระดับมือสมัครเล่น จะเอาไปทำได้
5. ทางการของรัฐควีนส์แลนด์ ได้ตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบว่า ตัวอย่างเชื้อหายไปได้อย่างไร และทำอย่างไรที่จะมั่นใจว่าไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีก
– โดยมาตรการที่น่าจะมีเพิ่มขึ้น ได้แก่ การจัดอบรมเจ้าหน้าที่กันใหม่ เพื่อให้มั่นใจว่าได้ปฏิบัติงานตามกฎระเบียบต่างๆ ที่มี และการตรวจสอบขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าเชื่อถือได้และจัดเก็บวัสดุตัวอย่างได้ถูกต้อง
– สุดท้าย ทางรัฐมนตรี Tim Nicholls ได้ยืนยันในงานแถลงว่า ขอเน้นว่าไม่ได้มีหลักฐาน รายงาน ถึงเหตุอันตรายใดๆ ที่เชื่อมโยงกับเชื้อที่หายไปนี้
——-
(เพิ่มเติมเรื่องเชื้อไวรัส ที่หายไป)
1. ไวรัสเฮนดรา (Hendra virus)
– ไวรัสเฮนดราเป็นไวรัสที่สามารถติดต่อได้จากสัตว์สู่คน และพบได้เฉพาะในออสเตรเลีย มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 57%
– ไวรัสนี้ถูกพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 หลังเกิดการระบาดในม้าแข่ง 21 ตัวและมนุษย์ 2 คน ที่เมืองเฮนดรา ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชานเมืองบริสเบน
– โดยข้อมูลจาก WHO ระบุว่า ไวรัสชนิดนี้มีต้นกำเนิดมาจากค้างคาวผลไม้
2 . ไวรัสฮันตา (Hantavirus)
– ไวรัสฮันตาเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่จากสัตว์สู่คนได้ มีต้นกำเนิดในหนู
– แพร่กระจายผ่านมูล, ปัสสาวะ และน้ำลาย เมื่อมนุษย์ติดเชื้อ จะก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบ ซึ่งอาการมักจะมีไข้, หนาวสั่น, คลื่นไส้, ท้องเสีย, และมีของเหลวอยู่ในปอด
– ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันโรคสหรัฐฯ หรือ CDC ระบุว่าไวรัสชนิดนี้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 38%
3. ไวรัสลิสซา (Lyssavirus)
– ลิสซาไวรัสเป็นเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า สามารถติดต่อได้ทั้งคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
– ในแต่ละปี มีคนเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ประมาณ 59,000 คนต่อปี