อดีตพุทธะอิสระ โพสต์ข้อความ หลังมีการแชร์ภาพ แสดงธรรม อยู่สูงกว่าพระภิกษุ เหมาะสมหรือไม่ งานนี้เจ้าตัวเผยชัด ไม่พอใจ ก็เขียน ก็โพสต์ด่ามาได้ตามสบายเลยนะจ๊ะ ถ้ามันจะทำให้คุณๆ ดูดี มีราคาขึ้น
อดีตพุทธะอิสระ แสดงธรรม อยู่สูงกว่าพระภิกษุ เหมาะสมหรือไม่ งานนี้ เจ้าตัวออกมาแจงเอง ผ่านเฟซบุ๊ก หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara) ระบุว่า
วัยรุ่นยุคนี้ดูจะชอบวู่วามเน้อ จะพูด จะทำอะไร ชอบใช้แต่อารมณ์ และความรู้สึกล้วนๆ เลยนะน้องหนู
๕ มกราคม ๒๕๖๘
ขอบคุณนะที่ยังไม่ลืมกัน มีอะไรไม่ถูกใจ ไม่พอใจ ก็เขียน ก็โพสต์ด่ามาได้ตามสบายเลยนะจ๊ะ ถ้ามันจะทำให้คุณๆ ดูดี มีราคาขึ้น
ทีนี้มาดูหลักการและเหตุผลที่ผู้แสดงธรรมควรจะนั่งสูงกว่าผู้ฟังธรรม มันมิใช่เรื่องใหม่ใดๆ เลย
แม้เมื่อครั้งพุทธกาล ณ นครโกสัมพี พระนางสามาวดีพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน พระนางต้องรู้สึกแปลกใจที่ทำไมวันนี้ห้องบรรทม และท้องพระโรงจึงเต็มไปด้วยดอกไม้สดที่งดงาม หอมอบอวนทั่วทั้งพระบรมมหาราชวัง ทั้งที่พระนางก็จ่ายเงินให้นางทาสีที่มีรูปร่างพิการ หลังคอม ขาเป๋ ชื่อขุชชุตตรา ให้ไปจัดซื้อดอกไม้มาประดับวังทุกวันๆ ละ ๘ กหาปณะ
เหตุการณ์เป็นเช่นนี้มาเป็นปี แต่ก็ไม่มีวันใดเลยที่จำนวนดอกไม้จะมากมายเห็นปานนี้
พระนางสามาวดีจึงเรียกนางขุชชุตตราทาสีมาถาม
นางขุชชุตตรา จึงได้ทูลว่า พระแม่เจ้า หม่อมฉันขอประทานอภัยที่ในอดีตผ่านมา หม่อมฉันเป็นคนไม่ซื่อตรง ได้ยักยอกเงินค่าดอกไม้ของพระองค์ไปวันละ ๔ กหาปณะ แต่มาวันนี้หม่อมฉันได้มีโอกาสฟังพระธรรมเทศนาที่องค์พระบรมศาสดาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้วบังเกิดธรรมสังเวช ธรรมปิติ มีดวงตาเห็นธรรม (บรรลุพระโสดาบัน)
หม่อมฉันจึงมีความละอาย ได้จัดซื้อดอกไม้จนครบตามจำนวนเงินที่พระแม่เจ้าได้พระราชทานมา จึงได้จำนวนดอกไม้มากมายเห็นปานนี้แหละเพคะ
อีกทั้งหม่อมฉัน ขอทูลถวายเงินที่ยักยอกไปทั้งหมดคืนแก่พระแม่เจ้าด้วยเพคะ
ข้างพระนางสามาวดีพระมเหสีขององค์ราชาอุเทน แทนที่จักโกรธนางทาสี กลับรู้สึกอัศจรรย์ใจว่า โอ๋หน่อ พระธรรมขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้าช่างเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก สามารถทำให้ผู้สดับมีจิตใจและพฤติกรรมที่ซื่อตรงเช่นนี้ได้
พระนางสามาวดีจึงมิได้เอาความแก่นางขุชชุตตราทาสี แถมยังยกมือไหว้นางทาสีพร้อมอ้อนวอนให้นางขุชชุตตราทาสี ช่วยแสดงพระสัทธรรมที่ได้ฟังมาให้แก่พระนาง และข้าราชบริพารได้ฟัง
เมื่อนางขุชชุตตราทาสียินยอม พระนางสามาวดีจึงได้ให้เจ้าพนักงานพานางขุชชุตตราทาสีไปทำการอาบน้ำชำระขัดสีร่างกายพร้อมด้วยชโลมน้ำอบน้ำปรุง ดุจดังที่พระนางเคยใช้ทุกวัน แล้วจึงให้นุ่งห่มด้วยเครื่องทรงที่พระนางเคยทรงสวมใส่ ทั้งยังประดับตกแต่งร่างกายของนางทาสีด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ อันโอฬาร์ ดุจดังที่พระนางประดับประดาตกแต่งพระวรกายในแต่ละวัน
ครั้งเสร็จแล้ว จึงเชิญนางขุชชุตตราทาสีขึ้นสู่พระแท่นตั่งที่ทรงประทับ ที่ปูลาดด้วยพระกัมพลอย่างดีถึง ๓ ชั้น
ส่วนพระนางสามาวดีพร้อมข้าราชบริพารก็ทรงนั่งประทับอยู่บนอาสนะที่ปูลาดบนพื้นบางๆ ชั้นเดียว แล้วทำการอภิวาทอาราธนาให้นางขุชชุตตราทาสีแสดงธรรม
พระนางสามาวดีกระทำกิริยานอบน้อมต่อนางทาสีผู้มีธรรมนี้ดุจดังพระมารดาของพระองค์เอง และเป็นอาจารย์ของข้าราชบริพารทั้งปวง
ด้วยสติปัญญาของนางขุชชุตตราทาสีสามารถแสดงธรรมที่สดับดับฟังมาจากพระโอษฐ์ขององค์พระบรมศาสดาเพียงครั้งเดียว ได้ครบถ้วนจนสามารถยังให้พระนางสามาวดีมีดวงตาเห็นธรรมพร้อมกับข้าราชบริพารทั้งปวง
กาลต่อมา พระบรมศาสดาทรงตั้งนางขุชชุตตราไว้ในตำแหน่งเป็นผู้เลิศในการแสดงธรรมฝ่ายคฤหัสถ์ อุบาสิกา
ที่หยิบยกเรื่องฆราวาสแสดงธรรมแล้วได้รับการยกย่องสูงสุดเช่นนี้ มาให้ศึกษาล้วนมีมาแล้วในครั้งพุทธกาล ด้วยหลักคิดที่ว่า ผู้แสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นใคร ต้องอยู่สูงกว่าผู้ฟังธรรมเสมอ เพราะพระธรรมเป็น ๑ ในพระรัตนตรัย ที่อยู่เหนือกว่าสังฆรัตนะ
ยังจำได้ว่า สมัยเด็กๆ ตามแม่ไปฟังธรรมที่วัดมหาธาตุ สมัยที่ท่านเจ้าคุณโชดกยังมีชีวิตอยู่ ที่ศาลาวัดมหาธาตุอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ยังนั่งสูงกว่าพระลูกศิษย์
แม้แต่อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ท่านสอนธรรมในศาลา พระเณรก็นั่งอยู่กับพื้นที่ปูลาดอาสนะ แต่ผู้สอนนั่งอยู่บนเก้าอี้ที่ตั้งอยู่บนฐานไม้ ที่ยกพื้นสูงกว่าพระเณรนั่ง
แต่ก็ไม่เห็นมีใครออกมาด่าว่า ไม่ดี
เพราะอะไรรู้มั้ย ?
ก็เพราะคนรุ่นฉันหรือก่อนฉัน เขาเรียนรู้ เขาศึกษา เข้าใจชัดว่า ผู้แสดงธรรมไม่ว่าจะแสดงแก่ใคร ก็ต้องอยู่สูงกว่าผู้ฟังธรรมทั้งนั้น
แต่แค่ในพระวินัยที่ว่าด้วยเสขิยวัตร ยังมีสิกขาบทที่ว่าด้วย ภิกษุห้ามอยู่สูงกว่าผู้แสดงธรรม
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ เสขิยกัณฑ์ วรรคที่ ๗ ปาทุกาวรรค
ปาทุกาวรรค สิกขาบทที่ ๘ อันภิกษุนั่งอยู่บนพื้น ไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่บนอาสนะ ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ นั่งอยู่ที่พื้นดิน แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่บนอาสนะ ต้องอาบัติทุกกฏ.
ปาทุกาวรรค สิกขาบทที่ ๙ อันภิกษุผู้นั่งบนอาสนะต่ำ ไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่บนอาสนะสูง ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ นั่งบนอาสนะต่ำแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้นั่งบนอาสนะสูง ต้องอาบัติทุกกฏ.
ปาทุกาวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ อันภิกษุผู้ยืนอยู่ ไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่ ภิกษุใดอาศัยความไม่เอื้อเฟื้อ ยืนแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ.
ขอบคุณ ขอบใจนะจ๊ะ ที่ยังห่วงใยกัน ติ เพื่อก่อ ถือว่าเป็นผู้ชี้ขุมทรัพย์แต่ ติ เพื่อเสียดสี ประจาน เหยียดหยาม ถือว่า เป็นคนพาล
พุทธะอิสระ